ประวัติ

คณะบริหารธุรกิจ จัดตั้งขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ในปี 2540 โดยมีรองศาสตราจารย์ พสุ สัตถาภรณ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำหลักฐาน และดำเนินการต่างๆ จนสำเร็จ และได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งคณบดีเป็นคนแรกคณะบริหารธุรกิจได้ผลิตบัณฑิตทางบริหารธุรกิจในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนโดยเฉพาะชุมชนในท้องถิ่นภาคใต้มานานกว่า 23 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะบริหารธุรกิจ ผู้บริหารคณะมีปณิธานอันแน่วแน่ว่า จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งทางวิชาการในแต่ละศาสตร์ของสาขาวิชา และเพื่อให้บัณฑิตและนักศึกษามีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 คณะบริหารธุรกิจจึงมีการส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงตนอยู่ในศตวรรษที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายหลากหลายด้านได้อย่างมีความสุข อาทิ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการติดต่อสื่อสาร ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และทักษะทางสังคม เป็นต้น

ครั้งเมื่อมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ (ครั้งนั้นยังเป็นวิทยาลัยเมืองหาดใหญ่) ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาจึงเปิดหลักสูตรการบริหารธุรกิจใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาการตลาด ซึ่งเป็นหลักสูตร 4 ปี เริ่มเปิดรับนักศึกษาในภาคเรียนแรก คือ ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2540 มีนักศึกษาที่สอบเข้าเรียนได้ทั้งหมดจำนวน 185 คน จนถึงปัจจุบันคณะบริหารธุรกิจได้มีการเจริญเติบโตและมีการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยตรงกับความต้องการเพิ่มขึ้นดังนี้

พ.ศ. 2540 เปิดสาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชีและสาขาวิชาการตลาด หลักสูตร 4 ปี
พ.ศ. 2541 เปิดหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี ทั้งภาคปกติ และภาคสมทบสำหรับสาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาการตลาด ทำให้มีนักศึกษาของคณะบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 900 คน
พ.ศ. 2542 เปิดสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ แบ่งเป็น หลักสูตร 4 ปี ภาคปกติ และหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี ทั้งภาคปกติและภาคสมทบ
พ.ศ. 2547 เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการแรงงานระดับบัณฑิตศึกษาในท้องถิ่น อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจ
พ.ศ. 2550 เปิดสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม และเปิดให้มีการเรียนการสอนในปี การศึกษา 2551
พ.ศ. 2553 คณะบริหารธุรกิจได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร จำนวน 12 หลักสูตร เพื่อเป็นการรองรับการจัดการหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ให้สามารถรับผู้จบการศึกษาระดับ ปวส. หรืออนุปริญญา หรือเทียบเท่า เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรระดับปริญญาตรี (4 ปี) ตามหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียนระดับปริญญาเข้าสู่การศึกษาในระบบได้โดยมีการปรับปรุงให้เหลือ 6 หลักสูตร 6 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ในปีการศึกษา 2553 ได้มีการดำเนินการเพื่อเปิดหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว โดยเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2554
พ.ศ. 2556 เปิดสาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์ ซึ่งสาขาวิชานี้ได้รับความร่วมมือจากธุรกิจเซ็นทรัล คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป
พ.ศ. 2557 เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ (ภาคนอกเวลา ราชการ)
คณะบริหารธุรกิจได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการ  จัดการทรัพยากรมนุษย์ และสาขาวิชาอุตสาหกรรมบริการ เพื่อเป็นการพัฒนาหลักสูตร  ให้ทันสมัยกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและให้สามารถรองรับผู้จบการศึกษาระดับ  ปวส. หรือ อนุปริญญา หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรระดับปริญญาตรี (4 ปี) ตามเกณฑ์หลักการเทียบโอนผลการเรียนระดับปริญญาตรีเข้าสู่การศึกษาในระบบได้
พ.ศ. 2560 ปรับปรุงหลักสูตรโดยมีการรวม 2 หลักสูตร ปรับเป็นแขนงวิชาได้แก่ 1) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด ควบรวมกับ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต  สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์ เป็น หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด วิชาเอกการจัดการตลาด และวิชาเอกการจัดการธุรกิจค้าปลีก 2) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ควบรวมกับ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็น หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการ วิชาเอกการจัดการทั่วไป และวิชาเอการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแนวโน้มของการศึกษาในอนาคต
พ.ศ. 2561 คณะฯ มีการปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการอุตสาหกรรม ในภาคการศึกษาที่ 3/61 เนื่องจากจำนวนนักศึกษาจบครบกำหนดตามหลักสูตร
พ.ศ 2562 คณะฯ มีจัดทำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและการออกแบบ (Innovative and Design Entrepreneur) และได้ผ่านการพิจารณาอุนมัติเป็นหลักสูตรบูรณาการความรู้หลายศาสตร์ เช่น ด้านบริหารธุรกิจ นวัตกรรมและการออกแบบ และดิจิทัลและเทคโนโลยี มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติของความเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่มีความกล้าเสี่ยงกล้าตัดสินใจ เข้าใจบริบทแวดล้อมทางธุรกิจ มีทักษะความเป็นผู้นำ มีทักษะการสื่อสาร ก้าวทันเทคโนโลยี มีการเรียนรู้ที่รวดเร็วและต่อเนื่อง มีความเข้าใจองค์ประกอบศิลป์ และการออกแบบ และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในอนาคต และปรับปรุงหลักสูตรบัญชีบัญฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2563) ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มระบบธุรกิจของโลก และมี
พ.ศ 2563 คณะบริหารธุรกิจ เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและการออกแบบ (Innovative and Design Entrepreneur) โดยมี ผศ.ดร.เธียรชัย พันธ์คง เป็นหัวหน้าสาขา
พ.ศ.2564 คณะบริหารธุรกิจ เปิดดำเนินการบริษัทจำลอง และ Platform ร้านค้าออนไลน์ HU Marketing HUB เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาและเป็นช่องทางทางการตลาดให้กับนักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์ และผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลา

นอกจากการพัฒนาด้านหลักสูตรและการเรียนการสอนแล้ว คณะบริหารธุรกิจยังมีแผนในการพัฒนาด้านการวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยให้สูงขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงปฏิบัติได้มากขึ้น การเผยแพร่ผลงานวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อให้สังคมและชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพัฒนาต่อยอดจากการบริการวิชาการไปสู่การสร้างความยั่งยืนของสังคมชุมชนต่อไป นอกจากนี้คณะบริหารธุรกิจให้ความสำคัญกับการสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้คนรุ่นหลังยังคงได้รับรู้และร่วมกันทำนุบำรุงสืบสานกันต่อไป ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบสนองต่อทั้งนโยบายของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สังคมและประเทศแล้ว คณะบริหารธุรกิจจะยังคงมีความตั้งใจมุ่งมั่นต่อไป เพื่อพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของคณะ เพื่อประโยชน์จะบังเกิดแก่เยาวชนและสังคมไทยสืบไป